Sunday 6 January 2013

พระพุทธองค์ทรงตรัส.. มีภรรยาอยู่ 7 ประเภท..


พระพุทธองค์ทรงตรัส.. มีภรรยาอยู่ 7 ประเภท

คู่ครองที่ดี ..........จะเป็นคู่ร่วมชีวิตกันได้ ควรมีคุณสมบัติ และประพฤติตามข้อปฏิบัติ มีหลักธรรมของคู่ชีวิต ที่จะทำให้คู่สมรสมีชีวิตที่สอดคล้องกลมกลืนกัน เป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้อยู่ครองกันได้ยืดยาว เรียกว่า สมชีวิธรรม 4 ประการ คือ
๑. สมศรัทธา
หมายถึง มีความรักในซึ่งกันและกัน มีความเคารพความเชื่อ ความเลื่อมใส และความใฝ่นิยมในคุณค่า หรือสิ่งที่ยึดถือเข้าใจว่าเป็นความดีงามต่าง ๆ ความมีศรัทธาสมกันย่อมเป็นสิ่งสำคัญเบื้องแรกที่จะทำให้ชีวิตครองเรือน กลมกลืนสนิทสนมแน่นแฟ้น เพราะศรัทธาเป็นเครื่องหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิด และเป็นพลังชักจูงใจในการดำเนินชีวิตและกระทำกิจการต่าง ๆ ความมีศรัทธาสมกัน ตั้งต้นแต่ความเชื่อถือในลัทธิศาสนาอย่างเดียวกัน ตลอดจนการมีรสนิยมแนวเดียวกันจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในชีวิตสมรส ถ้าศรัทธาเบื้องต้นไม่เป็นอย่างเดียวกัน ก็ต้องตกลงปรับให้เป็นไปด้วยความเข้าใจต่อกัน

2. สมสีลา หมายถึง มีความซื่อสัตย์ซื่อตรง มีความประพฤติ ศีลธรรม จรรยา มารยาท พื้นฐานการอบรม พอเหมาะสอดคล้อง ไปกันได้ ไม่นอกใจกัน....มีความประพฤติที่เข้ากันได้ อยู่ในระดับเดียวกัน ไม่เป็นเหตุให้เกิดความรังเกียจดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือขัดแย้งรุนแรงต่อกัน เช่น ฝ่ายหนึ่งปากร้าย ชอบกล่าวคำหยาบคาย อีกฝ่ายหนึ่งได้รับการอบรมกวดขันมาทางด้านการพูดจาสุภาพอ่อนหวาน ทนฟังคำหยาบ ไม่ได้ หรือฝ่ายหนึ่งชอบเป็นนักเลงหัวไม้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งชอบชีวิตสงบไม่วุ่นวายก็อาจเป็นทางเบื่อหน่ายร้าวฉานเลิก ร้างกัน หรืออยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน

๓. สมจาคา มีน้ำจิตน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละ มีจิตใจโอบอ้อมอารีย์ ต่อกัน ยังรวมไปถึงในชีวิตของบุคคลที่ต้องติดต่อเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ เริ่มแต่ญาติมิตรสหายเป็นต้นไปนั้น ธรรมข้อสำคัญที่จะต้องแสดงออกอยู่เสมอก็คือ ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีใจกว้างขวาง การช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน หรือในทางตรงข้าม ก็เป็นความ ตระหนี่ ความมีใจคับแคบ กระด้าง คู่ครองที่มีจาคะไม่สมกันย่อมมีโอกาสเกิด ความขัดแย้งกระทบกระเทือนจิตใจกันอยู่เรื่อยไป ทำให้ชีวิตครอบครัว เป็นชีวิตที่เปราะ มีทางที่จะแตกร้าวได้ง่าย

4. สมปัญญา หมายถึง รู้เหตุรู้ผล เข้าใจกัน อย่างน้อยพูดจากันรู้เรื่อง รู้จิตรู้ใจซึ่งกันและกัน

พระ พุทธองค์ทรงตรัสสอนนางสุชาดา ผู้เป็นสะใภ้ของอนาถปิณฑิกเศรษฐีว่า มีภรรยาอยู่ ๗ ประเภท เป็นฝ่ายร้าย ๓ ประเภท และฝ่ายดี ๔ ประเภท คือ
๑. วธกาภริยา ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต ได้แก่ภรรยาผู้มีจิตประทุษร้าย ปรารถนาความเสื่อมเสียหายแก่สามี ดูหมิ่นและคิดหาทางทำลายสามี

๒. โจรีภริยา ภรรยาเยี่ยงโจร ได้แก่ภรรยาผู้ล้างผลาญทรัพย์สมบัติที่สามีหามาได้

๓. อัยยาภริยา ภรรยาเยี่ยงนาย ได้แก่ภรรยาผู้ไม่ใส่ใจการงาน เกียจคร้าน รับประทานมากปากร้าย หยาบคาย ใจเหี้ยม ข่มสามี

๔. มาตาภริยา ภรรยาเยี่ยงมารดา ได้แก่ภรรยาผู้หวังดีทุกเวลา คอยห่วงใยรักษาสามีเหมือนมารดาปกป้องบุตร และประหยัดรักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้

๕. ภคินีภริยา ภรรยาเยี่ยงน้องสาว ได้แก่ภรรยาผู้เคารพสามีดังน้องกับพี่ มีใจอ่อนโยน คล้อยตามสามี

๖. สขีภริยา ภรรยาเยี่ยงสหาย ได้แก่ภรรยาที่พบสามีเมื่อใดก็ปลาบปลื้ม ดีใจเหมือนเพื่อนพบเพื่อนผู้จากไปนาน เป็นคนมีตระกูล (ได้รับการศึกษาอบรม) มีความประพฤติดี รู้จักปฏิบัติสามี

๗. ทาสีภริยา ภรรยาเยี่ยงทาส ได้แก่ภรรยาที่ยอมอยู่ในอำนาจสามี ถูกขู่ตะคอกเฆี่ยนตี ก็อดทนได้ ไม่โกรธตอบ


Saturday 5 January 2013

อานิสงส์ของการได้ฟังคำพระศาสดาก่อนสิ้นชีวิต


อานิสงส์ของการได้ฟังคำพระศาสดาก่อนสิ้นชีวิต


ดูกรอานนท์ ! อานิสงส์ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ในการใคร่ครวญเนื้อ
ความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน :-

ดูกรอานนท์ ! จิตของภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็น
ไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
ในเวลาใกล้ตาย เธอได้เห็นตถาคต
ตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น อันงามในท่ามกลาง อันงามในที่สุด

ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
แก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น

ดูกรอานนท์ ! นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร

อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคตเลย
แต่ได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคต ย่อมแสดงธรรมอันงาม
ในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
แก่เธอ
จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์
อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น

ดูกรอานนท์ ! นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร

อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไป
ในส่วนเบื้องต่ำ ๕
ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคตและไม่ได้เห็นสาวก
ของตถาคตเลย
แต่ย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจ
ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจ
ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมาอยู่
จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕

ดูกรอานนท์ ! นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร

ดูกรอานนท์ ! จิตของมนุษย์ในธรรมวินัยนี้ ได้หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไป
ในส่วนเบื้องต่ำ ๕
แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย

เธอย่อมได้เห็นพระตถาคต พระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น
... แก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่ง
อุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น

ดูกรอานนท์ ! นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร

อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์
อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย
เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคต
แต่เธอย่อมได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรม
อันงามในเบื้องต้น ... แก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพาน เป็นที่สิ้นไป
แห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น

ดูกรอานนท์ ! นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร

อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย
เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคต และย่อมไม่ได้เห็นสาวกของพระตถาคตเลย
แต่เธอย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา
เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่
จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้

ดูกรอานนท์ !
นี้เป็นอานิสงส์ข้อ ๖ ในการใคร่ครวญ
เนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ดูกรอานนท์ อานิสงส์ในการฟังธรรม
ในการใคร่ครวญเนื้อความโดยกาลอันควร ๖ ประการนี้แล

(ปญฺจก. อํ. ๒๒/๓๔๓/๓๒๗)